10 ชาดังทั่วโลก

10 ชาดังทั่วโลก




1.ชาญี่ปุ่น
ชาชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น คือ ชาเขียวมัตฉะ ซึ่งทำจากใบชาสีเขียวจัด เกิดจากการที่ชาวนาใช้เสื่อไม้ไผ่มุงโรงชา เพื่อลดปริมาณแสง จนทำให้ต้นชาผลิตคลอโรฟิลด์มากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อพยายามสังเคราะห์อาหาร จากใบชานั้นจึงนำมาบดละเอียดเป็นผงโดยใช้โม่หิน ซึ่งทำให้รูปทรงของผงมีความพิเศษ และสร้างกลิ่นหอมพิเศษ ชาวเชียวมัตฉะ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น ถึงขนาดมีพิธีชงชาเป็นแบบแผนและขั้นตอนที่ซับซ้อน เรียกว่า Chanoyu

กล่าวกันว่า ชาเขียวมัตฉะ เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยในเรื่องของอารมณ์ได้ดี เพราะนักบวชเซนของญี่ปุ่นใช้ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มประกอบการนั่งสมาธิด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยในการลดน้ำหนัก ปรับค่าความสมดุลย์ของกรด-ด่างในร่างกาย และยังดีท็อกซ์ร่างกายไปในตัวด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


2.ชาโมร็อกโก
มร็อกโกรับวัฒนธรรมชามาจากช่วงสงครามไครเมีย ซึ่งในตอนที่รบกัน พ่อค้าชาชาวอังกฤษที่รับซื้อชาจากจีน ไม่สามารถค้าขายได้ตามปกติ เพราะทั้งรัสเซีย อ็อตโตมัน ฝรั่งเศส และประเทศแถบบอลติก ต่างง่วนอยู่กับการรบจนลืมค้าขาย ทำให้พ่อค้าชาต้องเร่หาผู้ซื้อรายใหม่ และมาจบลงที่แถบแอฟริกาตอนเหนือ คือ โมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย ที่เรียกว่า The Greater Maghreb ซึ่งรับชามาประยุกต์ จนเกิดวัฒนธรรมชาของตัวเอง และการกินชาแบบใหม่ที่เรียกว่า Maghrabi Mint Tea หรือ “Moroccan tea” 

ความแปลกของตัวเอง ไม่ได้อยู่ที่ตัวชา เพราะชาก็คือชาธรรมดาๆจากจีน แต่ที่แปลกคือ จะใส่ใบ spearmint (บางครั้งใส่ peppermint ลงไปผสม กลายเป็น doublemint tea) ลงไปในแก้วชา เพื่อเพิ่มความหอม และรสชาติชาที่แปลกไม่เหมือนใคร ตามธรรมเนียม คนชงชาจะต้องเป็นผู้ชาย และเป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น จะรินใส่แก้วที่มีใบ mint ใส่เตรียมไว้อย่างน้อย 3 แก้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับขับสู้  

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



3.ชาปากีสถาน
ชาของปากีสถาน หรืออินเดีย (มาจากวัฒนธรรมเดียวกัน) เรียกกันว่า “Masala chai” หรือแปลได้ว่า “Mixed-spiced tea” – ชาผสมเครื่องเทศ  ชาแบบปากีสถานนี้ ใช้ใบชาดำจากรัฐอัสสัมเป็นหลัก และผสมเข้ากับส่วนประกอบเครื่องเทศแบบอินเดียมากมาย อาทิ กระวาน, โป๊ยกั๊ก, เมล็ดผักชีล้อม, จันทน์เทศ และกานพลู เดิมใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อการบำบัดร่างกายและอายุเวทมากกว่าหลายพันปีก่อนที่อังกฤษจะทำให้ชาวโลกได้รู้จัก “ชา” เสียอีก 

ปัจจุบันชา Masala Chai เป็นที่รู้จักทั่วโลก ในลักษณะชาดำที่ต้มกับนม ชาติตะวันตกนำไปประยุกต์กลายเป็นเมนูชา “Tea Latte” แต่จริงๆแล้ว ชาแบบปากีสถานจะต้องมีความหวานของน้ำตาลโตนด (ไม่ใช่น้ำตาลทรายจากอ้อย) ความมันเข้มข้นของนมสด และความหอมของเครื่องเทศ คนปากีสถานทานชาบ่อย เฉลี่ยคนละ 4 แก้วต่อวัน และใช้ชาแบบถูกๆ ที่เรียกว่าชา CTC “Cut-Tear-Curl” อันหมายถึง ชาสำเร็จรูปราคาถูกจากโรงงานอุตสาหกรรม

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


4.ชาอังกฤษ
น่าแปลก ที่อังกฤษไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตชา ไม่ได้มีวัฒนธรรมพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชามาก่อน แต่การล่าอาณานิคม ได้ทำให้อังกฤษเปิดตัวเองเพื่อรับวัฒนธรรมโบราณของประเทศในอาณานิคม จนกลายมาเป็นวัฒนธรรม “ชายามบ่าย” หรือ Afternoon tea ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยเกิดขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 19 ในสังคมชนชั้นสูงและชั้นกลาง เป็นเครื่องหมายของคนที่มีฐานะอันจะกิน (เพราะคนชนชั้นแรงงานจะไปทานรวบกับอาหารเย็น เป็น “High tea” แทน)

คนอังกฤษจะทานตอนประมาณ 4 โมงเย็น โดยรินชาที่ต้มแล้วในหม้อลงในแก้ว ก่อนผสมน้ำตาลและนมให้สีของชาเป็น “สีทอง” เวลาทาน จะทานกับขนมปังหรือ scone ทาเนยสดและแยม หรือทานกับบิสกิต ที่จะจุ่มลงในน้ำชาให้อ่อนตัวลง จนเป็นสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นตา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


5.ชาไต้หวัน
ประเทศเล็กๆอย่างไต้หวัน สร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับการทานชา โดยการคิดใส่ “สาคู” ต้มน้ำตาล เม็ดโตๆ ลงไปในชา โดยเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองไทจง โดยร้านชา Chu Shui Tang ในช่วงปี 1980 เพื่อเพิ่มทั้งรสชาติ และเพิ่มความน่าสนใจของการทานชา จนแพร่ระบาด ดังไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเอเชียแต่แม้แต่ฝรั่งหัวทองก็ยังอดทึ่งกับความแปลกใหม่ที่น่าสนใจและรสชาติเริ่ดเว่อร์วังของ “ชานมไข่มุก” แบบไต้หวันนี้ไม่ได้ โดยจริงๆ คำว่า bubble ใช้สื่อถึง ฟองที่เกิดจากการเขย่าของชา

Bubble tea หรือ Pearl milk tea ของไต้หวันนี้ ปัจจุบันยังมีแบบร้อนให้รับประทานด้วย แต่เดิมเม็ดสาคู หรือ “ไข่มุก” นั้นจะเป็นสีขาว แต่ภายหลังคู่แข่งเจ้าหนึ่งของร้านชาต้นตำรับ คิดเปลี่ยนเป็นสีดำ เพื่อให้เตะตาผู้บริโภคมากขึ้น จนทำให้ชาไข่มุกมีหน้าตาดั่งปัจจุบัน นั่นเอง

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


6.ชาแอฟริกาใต้
ชาของแอฟริกาใต้ ไม่ได้มีสีดำ หรือสีเขียว แต่มีสีแดง! ชาชนิดนี้ เรียกว่าชา Rooibos หรือ Bush tea ทำจากต้น redbush ซึ่งขึ้นดีทางแถบ Western Cape ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกาใต้ โดยเดิมที นักล่าอาณานิคมทานชาดำที่นำมาจากแผ่นดินแม่ จนกระทั่งได้ไปเห็นชาวพื้นเมืองปีนหน้าผาขึ้นไปตัดใบของพุ่มไม้บนเขา ก่อนนำมาทุบและตากแห้งทำเป็นเครื่องดื่ม จึงทดลองทำบ้าง และกลายเป็นที่ชื่นชอบ และสัญลักษณ์หนึ่งของแอฟริกาใต้ ดั่งปัจจุบัน 

ชา Rooibos นั้น มีสีแดงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่นิยมทานกับนมหรือน้ำตาล เพราะมีรสชาติหวานอยู่ในตัว ด้วยความนุ่มของรสชาติ บวกกับไม่มีคาเฟอีน จึงเหมาะกับการทานก่อนนอน เป็นยานอนหลับทางธรรมชาติชั้นดีอย่างหนึ่งด้วย หากต้องการเติมความหวาน แนะนำให้ใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาลทราย

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


7.ชารัสเซีย
รัสเซียก็ไม่ได้รู้จัก “ชา” มาแต่แรก เดิมทีเคยมีชาวคอสแซ็คเดินทางจากรัสเซียไปยังแถบประเทศจีนและเอเชียกลาง แล้วได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่เรียกว่า “ชา” เป็นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 15 แม้แต่คำว่า “ชา” ในภาษารัสเซีย ยังรับมาจากภาษาจีนกลาง “ฉา” ( ) แต่วัฒนธรรมชา ถึงจุดสูงสุดในรัสเซีย เมื่อสมัยที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราช ได้นำตัว “Samovar” หรือเครื่องต้มชา 2 ชั้น มาจากประเทศฮอลันดา รวมทั้งธรรมเนียมใหม่ๆมากมาย ซึ่งรวมไปถึงวิธีการทานชาด้วย 

การทานชาแบบรัสเซียในปัจจุบัน ยังคงถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาของการเจรจาธุรกิจ การประนีประนอม เป็นเครื่องหมายของการ “เปิดใจ” การแสดงมิตรภาพ ไว้เนื้อเชื่อใจอีกฝ่าย โดยเชิญเข้ามาในบ้านเพื่อร่วมดื่มชา และสนทนากันตั้งแต่หัวค่ำจนถึงกลางดึก คนรัสเซียดื่มชากันมากพอๆกับคนอิตาเลียนดื่มกาแฟ เวลาดื่ม มักจะรับประทานกับแคร๊กเกอร์แข็งๆที่เรียกว่า “Sushki” (ที่แขวนเป็นพวงในรูป) หรือ mashmallow แบบรัสเซียที่ชื่อ “Zefir” (ขนมสีขาวๆด้านขวาสุด)  ส่วนเวลาดื่มชา มักใส่แยมผลไม้ลงไปในชา คนกับน้ำชาให้เข้ากันก่อนดื่ม

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

8.ชาอาร์เจนติน่า
หลายท่านอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่า คนละตินอเมริกันก็รู้จักชา และรับประทานชามาเป็นระยะเวลานานแล้ว ชาที่เป็นที่นิยมในแถบนี้ โดยเฉพาะที่ประเทศอาร์เจนตินา ชื่อว่า Mate (มาเต้) โดยเดิมชนเผ่าโบราณถือว่าชา Mate นี้เป็นเครื่องดื่มสำหรับเทพเจ้า ต่อมาในสมัยศตวรรษที่ 16 นักล่าอาณานิคมชาวสเปนได้พบชา Mate และได้นำไปปลูกอย่างแพร่หลายโดยมิชชันนารีคณะเยซูอิตของคริสต์นิกายคาธอลิก ทำให้ชาชนิดนี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วละตินอเมริกา

ชา Mate ทำมาจากใบของต้นชา Yerba Mate ซึ่งถูกตากแห้ง หั่นฝอย และบดเป็นผง  เวลาดื่ม จะใส่ผลชาลงใน “ลูกน้ำเต้า” (เรียกว่า mate หรือ guampa) ก่อนรินน้ำร้อน ทิ้งไว้สักครู่  ก่อนใช้หลอดที่ทำจากเงิน ที่เรียกว่า bombilla ซึ่งมีรูอีกด้านหนึ่งเป็นที่กรองชาไปในตัว ดูดน้ำของชาขึ้มาโดยทิ้งกากชาไว้ในถ้วยนั้น นับว่า เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัยของอารยธรรมการดื่มชาแบบละตินอันเก่าแก่จริงๆ

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 
9.ชามาเลเซีย
ชาชื่อดังของมาเลเซีย น่าจะเป็นชาแบบที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดีที่สุด… ใช่แล้ว ชาประจำชาติมาเลเซีย ที่เรากำลังพูดถึง เรียกว่า Teh Tarik ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “ชาชัก”ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ชาชักนี้ ปรุงโดยการ “ชัก” ชาหลายๆครั้ง เพื่อผสมส่วนผสมในภาชนะชงชา 2 ชิ้น คือ ชาดำกับนมข้นหวานและ/หรือ นมต้มสด ชักไปมาอย่างชำนาญในอากาศ จนกว่าน้ำชาจะเป็นเนื้อเดียวกัน และมีฟองอากาศลอยอยู่ข้างบน พร้อมลีลาที่ชวนให้เสียวว่าน้ำชาจะหกใส่คนชงชาและคนดู  วิธีการชักแบบนี้ ไม่ได้เพียงแค่เรียกความสนใจให้คนอยากดื่มชาเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดอุณหภูมิที่ชงร้อนๆ ของชา เพื่อให้พอดีกับการดื่ม อีกด้วย 

ชา Teh Tarik มาเลเซีย เกิดจากชาวอินเดียมุสลิมที่พลัดถิ่นมาทำงานในคาบสมุทรมลายู ตั้งซุ้มขายชาราคาถูกแก่คนงานกรีดยางในไร่ยาง จนปัจจุบัน คนจะนิยมรับประทานตอนเช้า โดยเสิร์ฟพร้อมกับ Roti Canai  กลายเป็นอาหารเช้าประจำชาติของมาเลเซียไป อีกด้วย โดยปกติ Teh Tarik จะรับประทานแบบร้อน ไม่เหมือนชาชักแบบเย็นของบ้านเรา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

10.ชาทิเบต
ชาแบบทิเบต มีชื่อเรียกว่า Po Cha หรือ “Butter tea” เป็นชาที่คนในย่านหิมาลัยรู้จักเป็นอย่างดี โดยองค์ประกอบของชาชนิดนี้ คือ butter ซึ่งตามธรรมเนียมปกติ จะไม่ได้ใช้ butter จากวัว แต่เป็นจากสัตว์พื้นบ้านของพวกเขาที่เรียกว่า Yak หรือ ตัวจามรี โดยนมของจามรีอุดมไปด้วยไขมัน สามารถทำ butter ได้มากกว่านมวัว 2-3 เท่า เวลารับประทานชาทิเบต จะรินชาที่ต้มไว้นานประมาณครึ่งวันใส่ในกระบอกปั่นชา ที่เตรียมเกลือและ Yak butter เอาไว้แล้ว ชักลูกสูบขึ้น-ลง จนกว่าน้ำชาจะผสมเข้ากันจนมีลักษณะคล้ายน้ำสตูว์หรือน้ำมันเข้มข้นจึงถือว่าใช้ได้

ชาทิเบต เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนในย่านนี้ คนเลี้ยงสัตว์ตามภูเขาอาจจะดื่มมากถึง 40-60 ถ้วยต่อวัน เพราะชาร้อนๆ ที่เต็มไปด้วยไขมันแบบนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้ปากแตก รวมทั้งให้ความอบอุ่นต่อร่างกายในการดำรงชีวิตบนยอดเขาสูง การทานชาทิเบต เจ้าบ้านจะคอยเติมใส่ถ้วยทุกครั้งเวลาที่แขกยกดื่มแต่ละอึก เพื่อให้แขกดื่มชาจากถ้วยที่เต็มอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด หากเราไม่ต้องการดื่มอีก คือ การไม่ดื่มจากถ้วยที่เต็ม และปล่อยให้ชาเย็นในถ้วย เจ้าบ้านจึงจะไม่โกรธ ที่เราไม่ทำให้ถ้วยชาว่างเปล่า





ความคิดเห็น